New Document

อาคารและสถานที่

 
 
                ตั้งแต่ได้รับมอบพื้นที่จากกระทรวงมหาไทย (พ.ศ. ๒๔๙๘) จนกระทั่งได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็น วิทยาลัยชุมชนศรีราชา (พ.ศ. ๒๕๓๔) ประกอบด้วยอาคารและสิ่งก่อสร้างดังต่อไปนี้

หอพักนิสิตฝึกงาน
สถานีวิจัยศรีราชา มีหอพักนิสิต ๔ หลัง สามารถรองรับผู้มาพักได้ ๑๒๐ คน หอพัก ๑ เป็นหอพักชาย สร้างเป็นหลังแรก พ.ศ. ใดไม่ปรากฏ เป็นห้องพักรวม รองรับผู้พักอาศัยได้ประมาณ ๒๕ คน มีการปรับปรุงและซ่อมแซมหลายครั้ง สมัยอาจารย์พลทิพ โกมารกุล ณ นคร ต้องการให้นิสิตอยู่อย่างสบายปลอดโปร่งจึงขยายผนังกั้นห้องออกมาจนเต็มระเบียง ต่อมาอาจารย์จำลอง เจียมจำนรรจา ได้ทำการปรับปรุงใหม่อีกครั้ง โดยขยับผนังกลับที่เดิมและแบ่งกั้นเป็นห้องได้จำนวน ๖ ห้อง พร้อมทั้งมีระเบียงเดินหน้าห้องด้วย เพื่อต้องการรับผู้มาพักอาศัยได้หลายคณะ ด้านหลังหอจะเป็นห้องอาบน้ำ ห้องสุขา โดยเฉพาะห้องน้ำเป็นห้องอาบน้ำแบบรวม มีอ่างน้ำปูนซิเมนต์อยู่ตรงกลาง ผู้อาบจะเรียงรายรอบๆ อาบได้ทีละหลายๆ คน เพื่อ ความรวดเร็วในการเตรียมออกฝึกงานของนิสิต ต่อมาอาจารย์พลทิพ โกมารกุล ณ นคร ได้สร้างห้องอาบน้ำแบบใช้ฝักบัวขึ้น แต่ใช้ประตูแบบม่านรูด อาจารย์จำลอง เจียมจำนรรจาจึงเปลี่ยนเพิ่มเติมเป็นประตูไม้ และเมื่อวิทยาลัยชุมชนศรีราชาเปิดรับนิสิตรุ่นแรกในปี ๒๕๓๙ ยังคงใช้หอหลังนี้เป็นหอพักนิสิตชาย โดยจัดให้อยู่ห้องละ ๓ คน ปัจจุบันหอพัก ๑ นี้ถูกรื้อถอนในเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๒ คงเหลือแต่ห้องสุขาซึ่งถูกรื้อทิ้งในเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๗
หอพัก ๒
เดิมเป็นบ้านพักและที่ทำการของข้าราชการกรมพัฒนาที่ดินที่มอบให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถานีวิจัยศรีราชาจึงปรับปรุงเป็นหอพักนิสิตหญิงทาสีขาวจึงเรียกว่า “บ้านหลังขาว” เป็นอาคารที่ก่อสร้างได้อย่างสวยงามและตั้งอยู่ในทำเลที่เหมาะสม อาคารหลังนี้ถูกขอเป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ไทยหลายเรื่องในสมัยก่อน ด้านข้างของตัวอาคารจะมีโรงเก็บพัสดุและเก็บเรือ ต่อมาไม่ได้ใช้งานโรงเก็บนี้ จึงได้ดัดแปลงเป็นห้องประชุมสัมมนา ซึ่งรองรับคนได้ประมาณ ๖๐ คน เมื่อสถานีวิจัยศรีราชามีที่พัก มีอาหาร และมีที่จัดประชุม ทำให้สถานีวิจัยศรีราชามี “แขก” เข้ามาพักมากขึ้น และเมื่อมีการจัดตั้งเป็นวิทยาลัยชุมชนศรีราชาขึ้น หอพักนี้จึงถูกดัดแปลงอีกครั้งเพื่อใช้เป็นที่อยู่ของอาจารย์และเจ้าหน้าที่ของวิทยาลัยชุมชนที่มาอยู่ในรุ่นแรกๆ ปัจจุบันหอพักนี้ถูกรื้อถอนเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๒ เพื่อใช้สถานที่ก่อสร้างอาคารวิทยาศาสตร์พื้นฐาน (อาคาร๕)
หอพัก ๓
สร้างขึ้นในพ.ศ. ๒๕๑๐ เป็นหอพักรวมใต้ถุนสูงสร้างอยู่ติดเชิงเขา สำหรับนิสิตฝึกงานหญิงพักได้ครั้งละ ๓๐ คน จึงเรียกว่า “หอหญิง” ต่อมาสมัยอาจารย์จำลอง เจียมจำนรรจาได้ซ่อมแซมและปรับปรุงแบ่งกั้นเป็นห้องได้จำนวน ๖ ห้อง เพื่อรองรับแขกที่มาพัก ซึ่งมีจุดประสงค์แบบเดียวกับหอ ๑ และเมื่อสถานีกลายเป็นวิทยาลัยชุมชนศรีราชา หอนี้จึงใช้เป็นหอพักหญิงพักอยู่ห้องละ ๓ คน ปัจจุบันหอพักหลังนี้ใช้เป็นที่ทำการของชมรมอนุรักษ์และส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมไทย และชมรมดนตรีสากลของวิทยาเขตศรีราชา
หอพัก ๔
สร้างขึ้นในพ.ศ. ๒๕๑๙ รองรับคนได้ ๔๘ คน หอพักเป็น ๒ ชั้น ๓ ตอน พักได้ตอนละ ๑๖ คน เดิมให้เป็นหอพักชาย ตอนก่อสร้างจะมีต้นงิ้วใหญ่ขึ้นขนาบทั้งสองข้างจึงเรียกว่า “หองิ้ว” หรือ “หองิ้วคู่” หอนี้อาจารย์จำลอง เจียมจำนรรจาได้ซ่อมแซมครั้งหนึ่ง และเมื่อเป็นวิทยาลัยชุมชนศรีราชาจึงได้มี การปรับปรุงซ่อมแซมอีกครั้งเพื่อใช้เป็นหอพักนิสิตหญิง ปัจจุบันหอพักนี้บัณฑิตศึกษาสถาน (ชื่อปัจจุบัน คณะเศรษฐศาสตร์ ศรีราชา) ขอใช้ประโยชน์จากหอพักหลังนี้
บ้านพักรับรอง
บ้านหลังนี้สร้างเพื่อใช้เป็นบ้านพักหัวหน้าสถานีวิจัยศรีราชา แต่เนื่องจากสร้างอยู่บนเขาในจุดที่สวยพลทิพ โกมารกุล ณ นคร เลยเปลี่ยนเป็นบ้านพักรับรอง มีลักษณะอาคารเป็นบ้านพัก ๒ ชั้น ๓ ห้องนอน ๒ ห้องน้ำ มีระเบียงชมวิวผนังส่วนหนึ่งทาสีแดงจึงเรียกว่า “บ้านหลังแดง” มีการซ่อมใหญ่หนึ่งครั้ง ต่อมาบ้านพักลุงจันทร์ ไชยเนตรถูกรื้อในเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๒ จึงขอขึ้นไปอยู่ที่บ้านหลังนี้ และในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ ลุงจันทร์ต้องย้ายที่อยู่อีกครั้งเมื่อบ้านรับรองถูกรื้อทิ้งเพื่อสร้างถนนแนวกันไฟ
บ้านพัก
บ้านพักลูกจ้างประจำจำนวน ๒ หลังข้างประตู ๓ (สร้างเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๖)
บ้านพักข้าราชการระดับ ๑-๒ จำนวน ๒ หลัง ข้างหอพัก ๔ (สร้างเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๗)
บ้านพักข้าราชการจำนวน ๑ หลัง อยู่หลังอบก. (สร้างเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๐)

โรงอาหาร
เมื่อนิสิตต้องมาฝึกงานที่สถานีวิจัยศรีราชาต้องมาพักครั้งละประมาณ ๒๐ วัน (ฝึกงาน ๑๕๐ ชั่วโมง) จึงจำเป็นต้องมีหอพักและโรงอาหาร สถานีวิจัยศรีราชาจะมีแม่ครัว ๓ คน สำหรับเตรียมอาหารให้กับนิสิต หรือผู้มาพักในกรณีฝึกงาน นิสิตหญิงจะไปจ่ายตลาดซื้อกับข้าวกับแม่ครัววันละ ๑ คน เพื่อจดค่าใช้จ่ายต่างๆ และกำหนดเมนูอาหารในแต่ละวัน แม่ครัวของสถานีวิจัยศรีราชามีชื่อเสียงมากในการทำอาหารอร่อย โดยเฉพาะ “ป้าเครือ” หรือ นางเจริญ จันทร์ทองสุข เกษียณอายุราชการในปีพ.ศ. ๒๕๓๑ และได้รับรางวัลลูกจ้างประจำดีเด่นของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ด้วย แม่ครัวคนต่อมาคือ “ป้าหนอม” (นางถนอม สีดาลี) และ “ป้าหงวน” (นางสงวน ปัทมารางกูร) ซึ่งเป็นมือขวาและมือซ้ายของป้าเครือ ฉะนั้นรสชาติอาหารจึงไม่แตกต่างกัน ป้าหนอมเกษียณอายุราชการในพ.ศ. ๒๕๓๖ และป้าหงวนเกษียณอายุราชการในพ.ศ. ๒๕๔๑ หลังจากนั้นการรับผู้มาพักลดลง เนื่องจากการปรับเปลี่ยนเป็นวิทยาลัยชุมชนศรีราชา และเมื่อมีการรับนิสิตเข้าศึกษา โรงอาหารจึงต้องปรับปรุงดัดแปลงเป็นร้านค้าซึ่งมีอาหารคาว ๔ ร้าน ร้านขายน้ำ ๒ ร้าน นิสิตจะเรียกว่า “โรงไม้” เมื่อวิทยาเขตศรีราชาสร้างโรงอาหารหรืออาคาร ๗ เสร็จ โรงอาหารไม้ถูกยกเลิกและดัดแปลงเป็นสถานที่สำหรับนิสิตใช้ตีปิงปอง และได้รื้อทิ้งในเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๔๘ เพื่อก่อสร้างอาคารพลศึกษา (อาคาร ๑๓)

โรงเก็บพัสดุการเกษตร
เดิมสถานีฝึกนิสิตเกษตรศรีราชาจะมีการเลี้ยงวัวลูกผสมอเมริกันบราห์มัน ซึ่งภาควิชาสัตวบาลได้มาฝากเลี้ยง เพื่อศึกษาการเจริญเติบโตและการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม มีการผสมเทียมเพื่อยกระดับวัวพื้นเมืองให้มีขนาดใหญ่โตขึ้น สถานีวิจัยศรีราชาเป็นหน่วยงานแรกๆ ในประเทศที่ขยายพันธุ์วัวอเมริกันบราห์มันและจะจำหน่ายเฉพาะตัวผู้ เพื่อให้เกษตรกรนำไปใช้พัฒนาวัวพื้นเมือง ซึ่งเป็นการสร้างชื่อเสียงให้ “เกษตรศรีราชา” เป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศ สถานีวิจัยศรีราชามีฝูงวัวประมาณ ๗๐-๘๐ ตัว ทุกตัวจะถูกผู้เลี้ยงตั้งชื่อให้หมด ถ้าผู้เลี้ยงไม่ชอบใจใครก็จะนำมาตั้งเป็นชื่อวัว ผู้เลี้ยงจึงจำชื่อวัวได้ทุกตัว เนื่องจากจะมีการชั่งน้ำหนักตัววัวทุกตัวทุกเดือน หลังจากภาควิชาสัตวบาลมาขนย้ายวัวฝูงนี้ไปอยู่กำแพงแสน คอกชั่งถูกแทงจำหน่ายไปในพ.ศ. ๒๕๓๒ และคอกวัวซึ่งมีอยู่ ๒ หลัง จึงต้องปรับเปลี่ยนไปใช้งานอย่างอื่น คอกวัวเก่าสร้างตั้งแต่พ.ศ. ๒๕๐๙ ถูกปรับเปลี่ยนเป็นโรงเก็บผลิตผลทางการเกษตรเป็นกองฝักข้าวโพด ดอกทานตะวัน ฝัก ถั่วลิสง โดยเฉพาะข้าวโพดที่สถานีวิจัยศรีราชาปลูก เพื่อส่งขายเป็นเมล็ดพันธุ์ให้บริษัทซึ่งจะผลิตทั้งข้าวโพดลูกผสมเปิดและข้าวโพดลูกผสม (hybrid) ซึ่งเมล็ดพันธุ์หลักนั้นได้มาจากไร่สุวรรณฯ ปัจจุบันคอกวัวเก่าถูกรื้อถอนไปเพื่อใช้สถานที่สร้างสนามบาสเกตบอล ส่วนคอกวัวหลังใหม่สร้างขึ้นในพ.ศ. ๒๕๒๑ เมื่อไม่มีวัวจึงถูกดัดแปลงเป็นโรงเก็บพัสดุเกษตรในพ.ศ. ๒๕๓๒ ใช้เก็บปุ๋ย สารเคมี เครื่องมือเกษตร และใช้เป็นที่เก็บข้อมูลทดลอง เช่น การชั่งวัดหาเปอร์เซ็นต์แป้ง หาน้ำหนักแห้งในหัวมันสำปะหลังทดลอง โรงเก็บพัสดุนี้ถูกรื้อถอนในปีพ.ศ. ๒๕๓๗ เพื่อใช้สถานที่ก่อสร้างอาคารปฏิบัติการวิศวกรรมศาสตร์ (อาคาร ๒)
สิ่งก่อสร้างอื่น
กังหันลม ใช้เป็น Land mark ซึ่งติดตั้งสมัยหัวหน้าสถานีคนเก่า (เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๕) ปัจจุบันชำรุดเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลาใบพัดหักและหล่นลงมาเมื่อวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๖