New Document

อาคารและสถานที่

 
 
ศาสตราจารย์อินทรี จันทรสถิตย์ (หลวงอิงคศรีกสิการ)
     เกิดเมื่อวันที่ ๑๔ กันยายน พ.ศ ๒๔๔๒ ณ ที่บ้านในเขตอำเภอบางกอกน้อย จังหวัดธนบุรี
ท่านอาจารย์มีนามเดิมว่า “เอี้ยง” เมื่อท่านได้รับบรรดาศักดิ์เป็น “หลวงอิงคศรีกสิการ” ใน พ.ศ. ๒๔๖๗ นามเดิมของท่านคงเดิม ใน พ.ศ. ๒๔๘๕ รัฐบาลมีนโยบายให้เลิกบรรดาศักดิ์ ท่านอาจารย์จึงต้องกราบถวายบังคมลาออกจากบรรดาศักดิ์ตามพิธีการแล้วขอใช้นามเดิม มีรัฐนิยมว่าชื่อใด ๆ ขอเปลี่ยนนั้น ต้องแสดงเพศว่าเป็นชายหรือหญิง จึงจะเหมาะสม ท่านก็จำเป็นขอเปลี่ยนนามเดิ “เอี้ยง” ซึ่งทางการอำเภอว่าเป็นชื่อเพศหญิง มาเป็น “อินทรี”
๑. การศึกษา
     ๑.๑ การศึกษา
     ท่านอาจารย์อินทรี เล่าเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนวัดคฤหบดี ซึ่งอยู่ใกล้บ้าน เรียนวิชาสามัญชั้นมัธยม (ม.๘) โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และจบเมื่ออายุเพียง ๑๖ ปี ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียเงินค่าเล่าเรียนด้วย เมื่ออายุยังน้อย ท่านก็สมัครเรียน ม.๘ อีกหนึ่งปี และสำเร็จ ม.๘ หนที่ ๒ ใน พ.ศ. ๒๔๕๘ แล้วก็สมัครเข้าเป็นครูฝึกหัด และได้สอนในโรงเรียนสวนกุหลาบฯ นั้นเอง
     ในระหว่างเป็นนักเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบฯ ท่านก็เป็นนักฟุตบอลของโรงเรียน เมื่อเป็นครูฝึกหัดแล้ว ก็ยังคงเล่นอยู่ในทีมสโมสรครูนครหลวง รวมแล้วเป็นครูสอนอยู่โรงเรียนสวนกุหลาบฯ และเล่นฟุตบอลในทีมสโมสรครูนครหลวงอยู่ ๒ ปี จนสิ้นปี พ.ศ. ๒๔๖๐
     ๑.๒ การศึกษาในต่างประเทศ
     ใน พ.ศ. ๒๔๖๑ ท่านอาจารย์ได้รับทุนเล่าเรียนหลวงไปศึกษาต่อในต่างประเทศ แต่ท่านได้รับคำสั่งให้เรียนวิชาเกษตรกรรมในประเทศพิลิปปินส์ก่อน แล้วจึงไปเรียนต่อในประเทศสหรัฐอเมริกาหากว่าสงครามโลกครั้งที่ ๑ สงบเร็ว ท่านเป็นนักเรียนทุกฯ คนแรก เข้าเรียนในคณะเกษตรของมหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ ซึ่งอยู่ ณ เมืองลอสบานโยสห่างจากนครหลวง “มนิลา” ประมาณ ๖๐ กิโลเมตร ส่วนคณะอื่น ๆ นั้นอยู่ในนครหลวงมนิลา
     ท่านอาจารย์เรียนหลักสูตรปริญญาตรีกำหนดเวลาศึกษา ๔ ปี ภายในเวลา ๓ ปี ทั้งนี้เพราะท่านเรียนเพิ่มเติมในภาคฤดูร้อน เอาหน่วยกิตไปบวกกันกับหน่วยกิตภาคเรียน
ปกติได้ ตลอดเวลาเรียนท่านไม่ได้เล่นฟุตบอลเลย เพราะได้ตัดสินใจเรียนอย่างเดียว และใช้เงินที่ได้รับก่อนเดินทางและเงินค่ากินอยู่ประจำเดือน ซึ่งประหยัดได้นั้น เป็นค่าเล่าเรียนภาคฤดูร้อน
     ท่านอาจารย์เป็นผู้แนะนำให้ท่านอาจารย์พระช่วงฯ เปลี่ยนการศึกษาวิชา “เพาะช่าง” ในนครมนิลา มาเรียนวิชาเกษตรด้วยกัน ณ เมืองลอสบานโยส เพราะว่าโรงเรียน “เพาะช่าง” ซึ่งเป็นโรงเรียนของกรมศึกษาของรัฐบาลฟิลิปปินส์เหมือนกัน แต่มีอาจารย์ อุปกรณ์การสอน และอาคารเรียนไม่ครบถ้วนอย่างคณะเกษตรในเมืองลอสบานโยส
ใน พ.ศ. ๒๔๖๓ ท่านอาจารย์ทองดี เรศานนท์ (คือ ศาสตราจารย์หลวงสุวรรณ วาจกกสิกิจ) ได้เดินทางมาเรียนวิชาการเกษตรที่ เมืองลอสบานโยสก็ได้พบกับท่านอาจารย์ทั้งสอง ซึ่งกำลังจะออกเดินทางไปสหรัฐอเมริกา
      ท่านอาจารย์อินทรี จบปริญญา และไปเรียนปริญญาโท สาขาเกษตรต่อที่มหาวิทยาลัยคอร์แนล ณ เมืองอิทากะ มลรัฐนิวยอร์ค ส่วนอาจารย์พระช่วงฯ สำเร็จชั้นปีที่ ๒ ของปริญญาตรี ไปเรียนต่อแเละเรียนถึงปริญญาโท สาขาสัตวบาล ณ มหาวิทยาลัยวิสคอนชิน
      ท่านอาจารย์อินทรี ใช้เวลาศึกษาจบปริญญาโทในเวลา ๒ ปี นับว่าเป็นนักเรียนไทยคนแรกที่ได้รับปริญญาโท ท่านอาจารย์อินทรี เล่าว่าตอนที่ท่านเรียนอยู่ที่คอร์แนลนั้น ท่านพักอยู่ห้องเดียวกับนายสิงห์ ไรวา อดีตปลัดกระทรวงพานิช (พี่ชายของคุณหญิงสำอางค์ ภริยาคุณพระช่วงเกษตรศิลปการ) และนายสิงห์ มีรถมอร์เตอร์ไซคพ่วงข้าง จึงได้ไปเที่ยวไหนต่อไหนด้วยกัน และท่านอาจารย์อินทรีมีหน้าที่ทำอาหาร เพราะท่านมีฝีมือในทางนี้
      ท่านเล่าว่า ท่านขอเรียนปริญญาเอกต่อไป แต่ไม่ได้รับอนุญาต เพราะทางการต้องการคนมาใช้ ท่านก็เล่าอีกว่า ความรู้ที่เรียนมาถึงขั้นปริญญาโทนั้น ก็เอามาใช้ไม่หมด แล้ววิชาที่ได้ศึกษาก็เปลี่ยนแปลงก้าวหน้าไปตามกาลเวลา ก็เป็นความรู้ครึไป เช่น วิชาผสมพันธุ์พฤกษ์ (plant breeding) เพราะไม่มีโอกาสใช้ การเรียนนอกหลักสูตรมหาวิทยาลัย เป็นงานปฏิบัติทั้งนั้น มีความสำคัญและเป็นประสบการณ์มาก แบบที่ท่านพระยาเทพศาสตร์สถิตย์สร้างขึ้นในโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรม (ป.ป.ก.) นั้น มีความสำคัญมากในการพัฒนาชนบทของไทยเหมาะสมกับสมัยนั้น
      ท่านอาจารย์ เดินทางกลับทางยุโรป ถึงปีนังแล้วโดยสารรถด่วนเข้ากรุงเทพฯ ใน พ.ศ. ๒๔๖๖
๒. เข้ารับราชการและประสบการณ์
     ใน พ.ศ. ๒๔๖๖ นั้น ท่านอาจารย์ได้รับการบรรจุเนข้าราชการครูประจำกระทรวงธรรมการก่อน แล้วย้ายไปเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรม (ป.ป.ก.) พระประโทณ จังหวัดนครปฐม
     ใน พ.ศ. ๒๔๖๗ ท่านอาจารย์หลวงสุวรรณ สำเร็จปริญญาตรีเกียรตินิยม สาขาเกษตร มหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ เดินทางกลับ ก็ได้มาอยู่ที่พระประโทณด้วย เมื่อโรงเรียนนี้ย้ายภูมิลำเนาไปตั้งอยู่ที่อำเภอบางสะพานใหญ่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ท่านอาจารย์ทั้งสองก็ย้ายตามโรงเรียนไปด้วยพร้อมกัน ต่อมาท่านอาจารย์พระช่วงเกษตรศิลปการสำเร็จปริญญาโทแล้ว ก็มาอยู่ด้วย นับว่าบางสะพานใหญ่เป็นที่กำเนิดของ “สามปูชนียบุคคลแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์” ซึ่งปรากฎเป็นเรื่องราวอยู่ในหนังสือ “อนุสรณ์มหาวทิยาลัยเกษตรศาสตร์) อายุครบรอบ ๔๐ปี ใน พ.ศ. ๒๕๒๖
     ขอแทรกเรื่องราวโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรม (ป.ป.ก.) อย่างย่อไว้ เพราะลูกศิษย์ผู้สำเร็จโรงเรียน ป.ป.ก. นี้ภูมิใจในการศึกษาของโรงเรียนนี้มาก และนักประวัติศาสตร์ว่าด้วยการศึกษาของประเทศก็ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องของการบุกเบิก เป็นการแสดงเอกลักษณ์ความบึกบึนของคนไทยในสมัยสร้างงาน ดังต่อไปนี้
     โรงเรียน ป.ป.ก. นี้ ตั้งในกรุงเทพฯ ก่อน ณ ที่บริเวณหอวัง ในปัจจุบันเนสนามกีฬาแห่งชาติ สนามศุภชลาศัย ใน พ.ศ. ๒๔๖๐
     พระยาเทพศาสตร์สถิตย์ (โห้ กาฬดิษย์) เป็นอาจารย์ใหญ่คนแรก ท่านผู้นี้เป็นนักเรียนทุนหลวงรุ่นเดียวกับเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) สมัย พ.ศ. ๒๔๓๙ สำเร็จการศึกษาวิชากสิกรรม จาก มหาวิทยาลัยเริดดิ้ง (READING) ประเทศอังกฤษ เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว ท่านยังอยู่กับครอบครัวกสิกร ระดับคหบดี เป็นเวลานาน เพื่อเรียนภาคปฏิบัติในนาตอนจะกลับเมืองไทย ท่านได้เอาลูกวัวมาด้วยตัวหนึ่ง เป็นลูกวัวซึ่งพ่อของมันชนะการประกวด ท่านต้องจองลูกวัวตัวนั้นไว้จนแม่ของมันตกลูกแล้วและมันโตพอจะเดินทางข้ามทวีป ทางเรือเล็ก ทางเรือเดินสมุทรได้ ท่านจึงออกเดินทางกลับ ระหว่างเดินทางท่านต้องใช้เวลาดูแลลูกวัวนี้ตลอด แทนที่จะใช้เวลาสนุกสนานบนเรือ ท่านยังนำเอาเมล็ดพันธุ์พืชของใหม่ ไม่เคยมีในประเทศไทยเข้ามาด้วย
     ใน พ.ศ. ๒๔๕๙ ฯพณฯ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เสนาบดีกระทรวงธรรมการ มีนโยบายให้เด็กนักเรียนสามัญได้เรียนวิชากสิกรรมด้วย เพื่อปลูกฝังเด็กในชนบทให้สมกับประเทศไทยเป็นประเทศกสิกรรม ดำรงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของไทย ท่านจึงเห็นว่าสมควรให้มีหลักสูตรครูสอนวิชากสิกรรมขึ้น ท่านจึงได้มอบให้พระยาเทพศาสตร์ฯ เป็นผู้เขียนโครงการและดำเนินโครงการด้วย ดังนั้นโรงเรียน ป.ป.ก. จึงได้เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ใน พ.ศ. ๒๔๖๐
     โรงเรียน ป.ป.ก. นี้ มีประวัติย้ายภูมิลำเนาบ่อยที่สุด และท่านอาจารย์พระยาเทพศาสตร์ฯก็ตามไปควบคุมอยู่จนท่านถึงอนิจกรรมด้วยโรคเนื้องอกในกระเพาะ ใน พ.ศ. ๒๔๗๒
     โรงเรียน ป.ป.ก. นี้ ย้ายจากกรุงเทพฯไปตั้งอยู่ที่พระประโทณ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐมใน พ.ศ. ๒๔๖๑ คุณหลวงสุวรรณเคยเล่าว่า ตอนย้ายโรงเรียน ป.ป.ก. จากหอวังไปยังพระประโทณนั้น ตัวท่านเองเพิ่งจะเข้าทำงาน การที่ย้ายโรงเรียนครั้งนั้น ข้าวของเครื่องใช้ไม้สอย เครื่องครัว กระทะ ห้อมไห ต้องขนย้ายไปหมด การขนย้ายต้องขนไปทางเรือ บรรทุกเรือแจวไปหลายลำโดยที่ตัวท่านเป็นผู้ควบคุมการเคลื่อนย้าย ต้องแจวเรือไปตามลำคลอง…. ไปออกแม่น้ำท่าจีน (แม่น้ำนครชัยศรี) ท่านเล่าว่าการเดินทางเต็มไปด้วยความทุลักทุกเล เมื่อโรงเรียนมาตั้งอยู่ที่พระประโทณอยู่ระยะหนึ่ง ก็ย้ายไปอยู่อำเภอบางสะพานใหญ่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ใน พ.ศ. ๒๔๖๗ ที่ตำบลทับกวาง อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ใน พ.ศ. ๒๔๖๙ (พระยาเทพศาสตร์ฯ ถึงแก่กรรม ณ ที่ โรเรียน ป.ป.ก. นี้ ใน พ.ศ. ๒๔๗๒) ที่โนนกรีน อำเภอโนนวัด จังหวัดนครราชสีมา และเป็นที่ตั้งสถานีทดลองกสิกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ด้วย ใน พ.ศ. ๒๔๗๕
     พระยาเทพศาสตร์ฯ เป็น “ครู” ตัวอย่างท่านนำอาจารย์ ครู และนักเรียน ป.ป.ก. ในครั้งนั้น ท่านทำงานให้ดู เช่น การแบกจอบ แบกขวาน เครื่องมือกสิกรรม ขุดดิน ฟันตอ ถางป่า ท่านตรากตรำกับครูน้อยและนักเรียน ท่านตื่นนอนแต่เช้าทุกวัน คือ “ตื่นก่อนไก่ขัน” การกินการอยู่และการเคารพเชื่อฟังกัน ก็คล้าย ๆ แบบพระ สามเณรและลูกศิษย์อยู่รวมกันในวัดหนึ่ง ๆ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของไทยมาแต่โบราณกาล จึงขอบันทึกไว้
     ในระหว่างที่อาจารย์อินทรีเป็นอาจารย์อยู่ที่บางสะพานใหญ่ ท่านก็ได้สนิทสนมกับ ม.จ.สิทธิพร กฤดากร เจ้าของฟาร์มบางเบิด ซึ่งต่อมาได้รับการสดุดีเป็นพระบิดาแห่งการเกษตรแผนใหม่ ท่านทั้งสี่นี้ได้ร่วมมือกันคิดทำหนังสือ “กสิกร” ซึ่งพิมพ์ออกจำหน่ายเป็นครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๔๗๐ ม.จ.สิทธิพร ทรงเป็นเจ้าของและบรรณาธิการ ท่านอาจารย์ทั้งสามเป็นบรรณาธิการ ในคณะบรรณาธิการงานเขียนหนังสือของท่านอาจารย์อินทรี จึงปรากฏแต่นั้นมาจนจบสมัยการเป็นอธิบดีกรมกสิกรรมของท่าน ลูกศิษย์ของท่านจำได้ว่า ท่านเขียนในรูปการแนะนำ รายงานผลของการทดลอง เช่น วิธีการชำไม้อ่อน การปลูกต้นไม้ในกระถางดิน รายงานการปลูกอ้อย ยาสูบ และพืชไร่อื่น และเอกสารเผยแพร่เกี่ยวกับการทำสวนผัก สวนครัวมากมาย
     ใน พ.ศ. ๒๔๖๙ โรงเรียน ป.ป.ก. บางสะพานใหญ่ ย้ายภูมิลำเนาอีก ไปตั้งอยู่ที่ทับกวางจังหวัดสระบุรี ท่านอาจารย์ทั้งสามก็ย้ายไปด้วยแต่ท่านอาจารย์อินทรี ย้ายตามไปใน พ.ศ. ๒๔๗๐ เพราะต้องอยู่สอนนักเรียน ปี ๑ ซึ่งยังไม่ย้ายตามไป
     ใน พ.ศ. ๒๔๗๑ กระทรวงธรรมการเปลี่ยนแปลงนโยบายการศึกษาเกษตร อาจารย์ที่โรงเรียน ป.ป.ก. ต้องย้ายไปสอนวิชาสามัย ท่านอาจารย์อินทรีย้ายไปสอนที่โรงเรียนวัดเทพศิรินทร์และโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ใน พ.ศ. ๒๔๗๓ ย้ายไปเป็นอาจารย์หัวหน้าคณะโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย
     ใน พ.ศ. ๒๔๗๕ นโยบายการศึกษาการเกษตรได้ฟื้นตัวขึ้นมาอีก กระทรวงธรรมการให้ตั้งโรงเรียน ป.ป.ก. ตั้งขึ้นที่ภาคเหนือ ที่แม่โจ้, ภาคใต้ที่คอหงส์ และภาคอิสานที่โนนวัด เพื่อผลิตครูเกษตรออกไปทำการสอนวิชากสิกรรมตามโรงเรียนต่าง ๆ โรงเรียน ป.ป.ก. ที่ทับกวาง ก็ย้ายไปตั้งอยู่ที่โนนกรีน อำเภอโนนวัด จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นที่ตั้งสถานีทดลองกสิกรรม ภาคอีสานด้วย
     ท่านอาจารย์อินทรี ย้ายมาเป็นอาจารย์ใหญ่ที่ ร.ร.ประถมกสิกรรม โนนวัด ในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ท่านได้ทำการปรับที่ และลงมือก่อสร้างเป็นการใหญ่ มีตัวโรงเรียนแบบอาคารชั้นเดียวมีใต้ถุน หรือเรียนมี ๒ ห้องเรียน ห้องอาจารย์ใหญ่ ห้องพักครู ห้องสมุด มีตึกวิทยาศาสตร์ ซึ่งใช้เป็นห้องเรียน และห้องสมุด และห้องตัดสินการฝึกหัดงานของนักเรียน ส่วนหอพักนั้นสร้างแบบใต้ถุนสูง บ้านพักครูอาจารย์ และเจ้าหน้าที่ทดลองกสิกรรมก็เป็นบ้านใต้ถุนสูง มีบ้านรับรองแขก เรือนพยาบาลมีหมดประจำ อาคารเหล่านี้ปลูกเป็นระยะเรียงรายเป็นระเบียบ เด่นอยู่บนโนนกรีน พร้อมทั้งสนามกีฬา เช่น สนามฟุตบอล และสนามบาสเกตบอล นอกจากนั้นแล้ว ท่านอาจารย์ยังต้องรับหน้าที่หัวหน้าสถานีกสิกรรม ซึ่งอยู่ติดกับโรงเรียนและเป็นครูใหญ่โรงเรียนฝึกหัดครูมูล ซึ่งอยู่ในตัวจังหวัดนครราชสีมาด้วย
     ใน พ.ศ. ๒๔๗๖ ท่านอาจารย์ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลด้วยความเห็นชอบของกระทรวงเกษตรและกระทรวงธรรมการ ไปดูงานการเกษตรที่เกาะฟอร์โมซา (ไตัหวัน, เวลานั้นอยู่ในการปกครองของประเทศญี่ปุ่น) ให้ไปดูงานที่เกาะชวา (เวลานั้นอยู่ในความปกครองของรัฐบาลเนเธอร์แลนด์) ในปีเดียวกันนั้น ท่านได้อุปสมบทที่วัดราชาธิวาสในกรุงเทพฯ
     ใน พ.ศ. ๒๔๗๘ นโยบายการศึกษาของกระทรวงธรรมการ เปลี่ยนแปลงอีก โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมทั้ง ๓ แห่ง แม่โจ้ คอหงษ์ โนนวัดได้ถูกยุบเลิก และได้เปลี่ยนเป็นโรงเรียนมัธยมวิสามัญเกษตรกรรม ซึ่งเป็นโรงเรียนแบบฝึกอาชีพเกษตร อาจารย์หลวงสุวรรณไปเป็นอธิบดีกรมเกษตรและการประมง ส่วนท่านอาจารย์อินทรีได้โอนมาอยู่ด้วยตำแหน่งหัวหน้ากองอุตสาหกรรมพืชพรรณ กรมเกษตรและการประมง
     ใน พ.ศ. ๒๔๘๐ กระทรวงเกษตราธิการได้ตกลงสร้างสถานีเกษตรกลางบางเขน (และต่อมาได้เป็นที่ตั้งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพราะทั้งสถานีเกษตรกลางบางเขนและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์นั้น มาอยู่ในสังกัดกระทรวงเกษตราธิการด้วยกัน) ท่านอาจารย์อินทรีได้เป็นแม่งานใหญ่ในงานสร้างเกษตรกลางบางเขน และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในเวลานั้น
     ใน พ.ศ. ๒๔๙๑ ท่านอาจารย์อินทรีได้เป็นอธิบดีกรมกสิกรรม และท่านอาจารย์พระช่วงฯ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ ความสัมพันธ์ระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสมาคมวิทยาศาสตร์กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรมกสิกรรม กระทรวงเกษตราธิการ นั้นก็มีขึ้นในระยะนี้ ท่านอาจารย์อินทรีก็มีส่วนในการที่ช่วยให้รัฐมนตรีกระทรวงเกษตราธิการ (ท่านอาจารย์พระช่วงเกษตรศิลปการ) ทำงานสนับสนุนให้สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยก้าวหน้าไปตามแผนการของกรรมการสมาคมในสมัยนั้น ท่านอาจารย์อินทรีเล่าให้ฟังเสมอว่า ต้องสนับสนุนและช่วยสมาคมนี้มาก เพราะเป็นสมาคมวิทยาศาสตร์สมาคมแห่งเดียวเท่านั้นในเวลานั้น
     ในสมัยที่เป็นอธิบดีกรมกสิกรรม ท่านอาจารย์อินทรีก็ได้มีโครงการค้นคว้าทดลองเกี่ยวกับการเกษตรมากมาย กิจกรรม “ยุวกสิกร” ที่เกิดมีขึ้นนั้น ก็เพราะท่านอาจารย์อินทรี ได้พิจารณาว่าเหมาะสม เพราะประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ต้องปลูกฝังให้เยาวชนรักการเกษตรแต่ยังเด็ก รักภูมิลำเนาที่เกิด และพัฒนาท้องถิ่นของตน ทั้งนี้ก็ต้องมีความรู้ในทางกสิกรรม
     ในระหว่างที่ได้เป็นอธิบดีกรมกสิกรรมท่านอาจารย์ก็ได้เป็นกรรมการองค์การยาสูงของกระทรวงการคลัง และได้เป็นที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการทำให้องค์การยาสูบได้ขยายตัว กิจการกว้างขวาง มีสถานีทดลองของตัวเองขึ้นที่แม่โจ้ เป็นศูนย์การขยายงานผลิตและบ่มใบยาสูบของประเทศ
     ท่านอาจารย์ชอบการเดินทางและหาความรู้ดั่งได้ทราบกันดี เมื่อในสมัยเป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียน ป.ป.ก. ที่โนนวัด ท่านได้เดินทางไปแทบทุกแห่งในภาคอีสานที่มีอะไร ๆ สำคัญแก่การกสิกรรม เนื่องด้วยท่านชอบในเรื่องพรรณพืช ก็ย่อมสนใจในเรื่องพันธุ์ดี ๆ เมื่อเห็นว่าพืชใดควรจะเหมาะแก่ประเทศไทย ในโอกาสไปต่างประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเดินทางไปประชุม เพราะท่านมีความรู้ พรรณไม้ดอกไม้ผล พรรณพืชใดควรนำเข้ามาในประเทศไทย ท่านพยายามเอาพันธุ์นั้น ๆ มาขยายพันธุ์ต่อไปในประเทศด้วย เช่นพันธุ์ไม้ดอก “ดอนย่า” จากประเทศฟิลิปปินส์มาขยายพันธุ์ที่บางเขนจนเป็นที่นิยมปลูกกัน พันธุ์ฝ้าย (พันธุ์เส้นใยยาว) จากประเทศเขมร ซึ่งต่อมาได้ขยายเป็นพัธุ์ฝ้ายเศรษฐกิจเพื่อแจกชาวบ้ายจนเกิดมีการทำไร่ฝ้ายพันธุ์เขมร มีฝ้ายและมีโรงงานหีบฝ้ายขึ้นตามไร่ ในสวรรคโลก ได้เอานุ่นจากประเทศเขมร ซึ่งเรียกว่า “พันธุ์โต” เข้ามาจนเป็นพันธุ์ปลูกกันในบริเวณปากช่อและจังหวัดในภาคอีสานและปอแก้ว ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศ มะรุมฝักขาวจากประเทศอินเดียก็เป็นที่สนใจแก่ชาวบ้าน เพื่อปลูกไว้กินและเหลือก็ขาย ทำนองเป็นสวนครัวง่าย ๆ เมือท่านเป็นอธิการบดี ท่านได้ขอฟาร์มธนะรัชต์จากรัฐบาล มาเป็นของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อตั้งเป็นศูนย์วิจัยเรื่องข้าวโพดข้าวฟ่างแห่งชาติ ซึ่งได้ผลิตข้าวโพดพันธุ์สุวรรณ ๑ สุวรรณ ๒ และสุวรรณ ๓ ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวโพดที่มีคุณค่าและมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างมาก
     อย่างไรก็ตาม ท่านอาจารย์อินทรีก็ไม่ลืมพรรณไม้ผลของไทย ท่านได้เผยแพร่โดยชักชวนให้เกษตรกรทำไร่ปลูกมะม่วงและไร่มะม่วงหิมพานต์ในภาคอีสาน และในที่จะปลูกอะไรก็ยากเพื่อใช้ดินให้เกิดประโยชน์ มิให้ดินนั้นถูกชะล้างเพราะน้ำเซาะและลมพักจนพังไปเสีย จะทำให้ที่แห้งแล้ง ซึ่งจะกลายเป็นทะเลทรายได้ในวันข้างหน้า
     เรื่องที่น่ารู้ก็คือ ท่านได้ช่วยให้พันธุ์ทุเรียนมีชื่อของไทยรอดพ้นจากการสูญพันธุ์อย่างมหันต์มาได้คือใน พ.ศ. ๒๔๘๕ นั้น น้ำท่วมใหญ่ และได้ทำลายสวนทุเรียนพันธุ์ดีเด่นในเขตจังหวัดธนบุรีและนนทบุรี ในลักษณะ “ล้างแดน” ท่านเล่าว่า ตอนนี้แหละท่านได้ใช้วิธีการเกษตรที่ได้เรียนมาโดยตรงบ้าง คือ การขยายทุเรียนพันธุ์ดีให้ดำรงอยู่ได้ต่อไป วิธีการง่าย ๆ อยู่ที่ต้องหัดและฝึกทำกันจริง ๆ โดยใช้วิธีต่อตาพันธุ์ทุเรียนดี ที่รอดตายนั้น โดยเอาต้นอ่อนที่งอกจากเมล็ดที่มีผู้กิน และทิ้งอยู่จากจังหวัดสุราษฎร์ธานี เก็บรวมเข้าแล้วขึ้นรถตู้รถไฟเป็นคันรถ มาลงที่สถานีบางกอกน้อย มาใช้เป็นต้นตอแล้วให้เป็นหน้าที่ของสถานีทดลองกสิกรรมบางกอกน้อย เป็นเจ้าของเรื่องต่อไป โดยได้รับความร่วมมือจากเจ้าของสวนที่ต้นทุเรียนรอดตายให้ตามาสำหรับต่อกิ่ง เจ้าหน้าที่ก็เก่ง พอที่สนองความประสงค์ของท่านได้ด้วยการต่อตา แต่นั้นมาสถานีทดลองกสิกรรมบางกอกน้อย ก็มีชื่อเสียงในเรื่องการขยายพันธุ์ไม้ด้วยวิธีการ “ต่อตา” ต่าง ๆ และในปัจจุบันชาวสวนก็ได้ใช้ความรู้นี้ปรับปรุงพืชสวนให้เจริญก้าวหน้าและแพร่หลาย สำนักงานคณะกรรมการลูกเสือแห่งชาติยังส่งผู้บัญชาลูกเสือไปเรียนการต่อตา ต่อกิ่งของต้นไม้ ณ ที่สถานีนี้ และได้บรรจุวิชานี้ไว้ในหลักสูตรการอบรมลูกเสือวิสามัญ
     ใน พ.ศ. ๒๔๙๙ ท่านได้ลาออกจากราชการเป็นข้าราชการบำนาญก่อนครบเกษียณอายุ “เพื่อให้คนอื่นเขาเป็นอธิบดีบ้าง” แต่ท่านก็ได้รับเชิญไปเป็นที่ปรึกษาโรงงานน้ำตาลสุพรรณบุรี รัฐวิสาหกิจ ของรัฐบาล เพื่อช่วยวางรากฐานและการทดลองปลูกอ้อยเป็นเวลา ๑ ปี แล้วก็ลาออก
     ใน พ.ศ. ๒๕๐๑–๒๕๐๘ และใน พ.ศ. ๒๕๑๐–๒๕๑๒ ท่านได้รับตำแหน่งเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รวมเวลา ๑๐ ปี ท่านได้ปรับปรุงและพัฒนามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ให้เจริญก้าวหน้าไปมาก โครงการต่าง ๆ ที่ชะงักมาก็ได้รับการเร่งเร้าสนับสนุนให้กลับขึ้นมาใหม่อย่างเต็มที่ จึงเป็นผลให้เตรียมการโครงการเงินกู้เพื่อพัฒนามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ต่อไป ท่านได้มีโอกาสแสดงความกตัญญูกตเวที แด่ผู้มีบุญคุณซึ่งได้ล่วงลับไปแล้ว ในการพัฒนาเกษตรของประเทศ โดยตั้งชื่ออาคารในมหาวิทยาลัย โดยใช้นามของท่านเหล่านั้น เช่น ตึก “ธรรมศักดิ์มนตรี” อาคาร “เทพศาสตร์สถิตย์” อาคาร “หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ” ตึก “พิทยาลงกรณ์” ตึก “พลเทพ” และตึก “โภชากร” เป็นต้น
     ใน พ.ศ. ๒๕๐๔ ถึง ๒๕๓๑ ท่านอาจารย์ได้รับหน้าที่ประธานคณะกรรมการ แผนกเกษตรศาสตร์ แห่งมูลนิธิอานันทมหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์
     ใน พ.ศ. ๒๕๑๒ ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ประยุกต์แห่งประเทศไทย (ปัจจุบันสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย) อยู่ได้ ๒ ปี ก็ลาออกเพื่อพักผ่อนเพราะอายุมากแล้ว (อายุ ๗๒ ปี)
     ในระหว่าง พ.ศ. ๒๕๑๔–๒๕๑๙ เป็นเวลา ๕ ปี ท่านอาจารย์ก็ไม่ได้ว่างทีเดียว ท่านก็ยังเกี่ยวข้องกับการงานของประเทศ คือ เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ สมาชิกสภานิติบัญญัติ สมาชิกวุฒิสภานายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประธานกรรมการบริหารสภาวิจัยแห่งชาติ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสภาลูกเสือแห่งชาติ
     ใน พ.ศ. ๒๕๑๙ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม แต่งตั้งให้ท่านอาจารย์เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สมัยนายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นรัฐมนตรีอยู่ได้ ๑ ปี
     ในระหว่างที่ท่านเป็นรัฐมนตรีว่าการนั้นท่านก็ได้พยายามปรับปรุงงานในกระทรวงเกษตรที่ท่านพิจารณาเห็นว่าท่านควรเข้าไปแก้มากก็คือองค์การอุตสาหกรรมโคนมไทย-เดนมาร์ค และองค์การโคนมหนองโพ ท่านได้ให้มีการปรับปรุง ๒ องค์การนี้จนให้มีสภาพดีขึ้นเท่าที่ท่านจะทำได้และท่านได้เป็นผู้ให้มีโครงการบำรุงพันธุ์ปลาแบบประชาอาสา ซึ่งในปัจจุบันกรมประมงได้ขยายกิจการออกไปเป็นโครงการบำรุงพันธุ์ปลาโรงเรียนโครงการบำรุงพันธุ์ปลาในชนบทยากจน โครงการบำรุงพันธุ์ปลาน้ำหลาก จนในปัจจุบันรัฐบาลได้เห็นความสำคัญ และจัดตั้งเป็นวันประมงแห่งชาติเป็นต้น ในกิจการนี้ ได้มีการส่งเสริมให้ลูกเสือแห่งชาติได้มีโอกาสเข้าเรียนการเพาะและเลี้ยงปลาด้วย ในทำนองเดียวกันกับโครงการยุวกสิกรของท่าน
     ในเวลานี้ ท่านอาจารย์อินทรี ก็ได้ลดงานเชิญ “ออกงาน” ให้น้อยลงเพราะอายุมาก จะในงานที่จำเป็น เช่น งานฌาปนกิจศพ และงานประชุมที่ท่านมีบทบาทสำคัญ เช่น การประชุมมูลนิธิอานันทมหิดล การประชุมกรรมการบริหารสภาวิจัยแห่งชาติ และการเดินทาง ซึ่งท่านเห็นว่าสุขภาพของท่านจะทนต่อการเดินทางนั้นได้ แต่งานที่ท่านพยายามไป ก็คือ งานประกวดพืช ผลไม้ งานทอดกฐินซึ่งท่านเคยร่วมมือกับลูกศิษย์มาเป็นเวลานาน ในโอกาสวันเกิดของท่าน ท่านก็ได้รับความช่วยเหลือจากมิตรและลูกศิษย์ให้ของขวัญ ผู้ที่รู้ก็มอบเงินให้ท่าน เพราะรู้ว่าท่านเอาไปทำบุญ เช่น บำรุงโรงเรียน “วัดคฤหบดี” ซึ่งเป็นโรงเรียนเมื่อครั้งปฐมวัยของท่าน เป็นประจำ และยังได้ตั้งทุนให้นักเรียนยากจน ซึ่งเรียนดี ให้ทุนจันทรสถิตย์ และทุนส่งเสริมกีฬา เป็นกิจวัตรประจำทุกปีมา
๓. ชีวิตครอบครัว
     เมื่อท่านอินทรี เข้าทำงานได้ยังไม่ทันครบปี โรงเรียนประถมกสิกรรมก็ได้ย้ายไปอยู่ที่ใหม่คือ ที่อำเภอบางสะพานใหญ่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๗ ท่านได้ย้ายตามไปด้วย และในปีนี้เอง ท่านได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ เป็นหลวงอิงคศรีกสิการ เมื่อวันที่ ๑ ต.ค. ๒๔๖๗ ท่านมีอายุเพียง ๒๕ ปี เท่านั้น นับว่าเป็นคุณหลวงที่หนุ่มมาก
     ท่านเล่าว่า เมื่อโรงเรียนย้ายไปอยู่ที่ใหม่ งานหนักที่สุดคืองานบุกเบิก ถางป่า สร้างอาคารเรียน อาคารที่พัก อาคารที่ทำงาน โดยปกติพวกอาจารย์จะเดินทางเข้ากรุงเทพ เดือนละ ๑ ครั้ง หรือบางทีก็ ๒ เดือนต่อครั้ง เพื่อเยี่ยมบ้านและหาซื้อของใช้ที่จำเป็น โดยเฉพาะอาหารแห้ง
     ในปี พ.ศ. ๒๔๖๘ ท่านอาจารย์อินทรี ได้ถูกแนะนำให้รู้จักกับ น.ส.สำเนียง เธียรประสิทธิ์ บุตรี นายจีน นางแดง เธียรประสิทธิ์ โดยเพื่อนเก่าที่เคยเรียนที่ ร.ร.สวนกุหลาบมาด้วยกัน คือ นายมงคล เธียรประสิทธิ์ (หลวงเธียรประสิทธิสาร) พี่ชายของ น.ส. สำเนียงนั่นเอง
     หลังจากได้รู้จักกันประมาณเกือบปี จึงได้มีการทำการสู่ขอตามประเพณี ผู้เป็นเถ้าแก่ไปสู่ขอคือ พระอนุสิทธิ์วิบูลย์ (เปี่ยม จันทรสถิตย์)1 พี่เขยของท่านอาจารย์อินทรี และได้เข้าสูงพิธีมงคลสมรสในปี พ.ศ. ๒๔๖๙ ที่บ้านของเจ้าสาว คือที่บ้านตรอกข้าวสาร อ.สัมพันธวงศ์ โดยมีพระอนุสิทธิ์วิบูลย์ เป็นเจ้าภาพฝ่ายชาย นายจีน เธียรประสิทธิ์ เป็นเจ้าภาพฝ่ายหญิง
     หลังจากแต่งงานแล้ว ท่านอาจารย์อินทรียังปฏิบัติงานอยู่ที่บางสะพานใหญ่ ส่วนคุณนายสำเนียงก็ยังคงอยู่ที่บ้านเดิม มิได้ย้ายตามไปด้วยเพราะต้องคอยดูแลคุณย่า (นางพุ่ม เธียรประสิทธิ์) และดูแลคุณพ่อ ซึ่งสุขภาพไม่ค่อยดี ในปี พ.ศ. ๒๔๗๐ ท่านอาจารย์อินทรี ได้ย้ายตามโรงเรียนไปอยู่ที่ทับกวาง อ.แก่งคอย คุณนายสำเนียงก็ไม่ได้ย้ายตามไปด้วย ดังคงอยู่ที่บ้านเดิม
     ในปี พ.ศ. ๒๔๗๓ เมื่อท่านอาจารย์อินทรีได้ย้ายไปสอนที่โรงเรียนวชิราวุธ จึงได้ย้ายครอบครัวจากบ้านตรอกข้าวสาร ไปพักในบ้านพักที่ ร.ร.วชิราวุธ ในปี พ.ศ. ๒๔๗๗ เมื่อท่านอาจารย์อินทรีได้ย้ายไปเป็นอาจารย์ใหญ่ที่โรงเรียนประถมกสิกรรม โนนวัด จึงได้ย้ายครอบครัวไปอยู่ด้วย และได้ให้ครอบครัวอยู่ที่โนนวัด ๑ ปี แล้วให้ย้ายเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ ที่บ้านถนนศรีอยุธยา ที่อยู่ในปัจจุบันทั้งนี้เพราะต้องการให้บุตรสาวได้เข้าเรียนหนังสือแต่อายุยังน้อย
     ท่านอาจารย์อินทรี เป็นหัวหน้าครอบครัวที่ดี ท่านเป็นผู้นำของครอบครัวและพยายามสร้างเนื้อสร้างตัวอยู่ตลอดเวลา ทำให้ครอบครัวของท่านมีความสุข ไม่เดือนร้อน
๔. เครื่องราชอิสริยาภรณ์ เกียรติยศจากในและต่างประเทศ
ท่านอาจารย์อินทรี ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ในประเทศ คือ
     - มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก
     - มหาวชิรมงกุฎ
     - ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ
และได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิติมศักดิ์จาก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และสถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม้โจ้ นอกจากนี้ยังได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์เกียรติยศ จากต่างประเทศด้วย คือ
     -เครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสาม จากประเทศเดนมาร์ค
ได้รับเกียรติเป็นสมาชิกในสมาคมอธิการบดีมหาวิทยาลัยของโลก
ได้รับยศ พันเอกของมลรัฐเคนตักกี้สหรัฐอเมริกา ในคราวไปเยือนประเทศสหรัฐอเมริกา ในฐานะกรรมการโรงงานยาสูบ
     ประวัติของท่านอาจารย์อินทรี ดังได้บันทึกไว้ข้างต้น ก็พอที่กล่าวได้ว่าท่านอาจารย์เป็นแบบอย่างของพลเมืองดี คือการบำเพ็ญประโยชน์ให้แก่สังคมและประเทศชาติ ดังได้ปรากฏแล้วว่าท่านมีลูกศิษย์มาก ลูกศิษย์ที่เคยอยู่โรงเรียน ป.ป.ก. นั้นมีหลายรุ่น ทุกคน ซึ่งมีชีวิตอยู่ พอมาอวยพรท่านได้ในวันเกิดแล้ว ต้องมาทุกคน ท่านมีความจำแม่นยำมาก นี่ก็เป็นคุณสมบัติเฉพาะของท่าน ซึ่งทำให้ท่านเป็นที่นับถือ เพราะท่านไปเมืองใด ต้องอุตส่าห์ไปเยี่ยมเยือนลูกศิษย์ ชวนลูกศิษย์ไปรับประทานอาหารด้วยกันเสมอ แสดงถึงน้ำใจเมตตากรุณาของท่าน

ที่มา : หนังสือ "ชีวิต และ งาน ศาสตราจารย์ (พิเศษ) อินทรี จันทรสถิตย์ (หลวงอิงคศรีกสิการ)" อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ (พิเศษ) อินทรี จันทรสถิตย์ หน้า ๕๔-๙๓